มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย บ.เชียงรายเกษตรฯ จัดประชุมสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพ “ถั่วดาวอินคา” ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากท้องถิ่นทั่วไทยให้ยั่งยืน ส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ นัด 12 บริษัท ทั่วประเทศ จากทุกภาคและจาก สปป.ลาว ร่วมมือสร้างเครือข่าย
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ( มร.ชร.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร รองอธิการบดีฯฐานะผู้กำกับสนับสนุนสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (สพสล.)มร.ชร. เป็นประธานประชุมกับ “สมาคมการค้าพืชดาวอินคาและพืชเศรษฐกิจไทย” จ.เพชรบูรณ์ ที่ห้องประชุมหอปรัชญา รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) โดยมีนายวิรุฬ ชลหาญ อุปนายกสมาคม เป็นตัวแทน ซึ่งมี 17 บริษัท เป็นสมาชิกและเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆของไทย ทั้งภาคเหนือ อิสาณ กลาง และ ใต้ (ในประเทศมี 37 บริษัท)
รวมทั้งตัวแทนจาก บริษัทจากเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมี นายศรีนวล ภัคอำภรณ์ เดินทางมาร่วมด้วยในนามบริษัทฯของไทย โดยการประสานงานของ นายวิชัย วิศิษฐฎากุล ประธานกรรมการบริษัทเชียงรายเกษตรกรรมก้าวหน้า จำกัด ผ่านมายัง ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนาผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกับ สพสล.มร.ชร. ในการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกถั่วดาวอินคาซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกในการเป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เป็นประโยชน์ทั้งที่เป็นยาและอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและวงการแพทย์ในยุคปัจจุบัน
เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทต่างๆดังกล่าวยังขาด “องค์ความรู้” ต่างๆ ไม่มีหลักประกันในการทำงานเพราะต่างคนต่างทำค้าขายกับต่างประเทศกันเอง ไม่มีหลักวิชาการและการรับรองคุณภาพที่มีมาตรฐาน และการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เนื่องจากภาครัฐบาลยังให้ความสนใจน้อยมาก ดังนั้นการมาประชุมที่ มร.ชร.จึงเป็นการเปิดมิติใหม่ที่จะมีนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนารวมทั้งประกันคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยเฉพาะ สพสล.มร.ชร. มีครบทุกอย่าง เช่น มีห้อง”แล็บ” ที่ทันสมัย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์ การตรวจสอบสอบมาตรฐาน ISO17025 ซึ่งเป็นที่รับรองระดับสากล และมีทีมนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละด้านพร้อมอยู่ที่นี่
ผศ.ดร.ศรชัย กล่าวว่า มร.ชร.และอื่นๆ ทั้ง 37 แห่งในประเทศเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกออกแบบมาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อความอยู่ดีกินดีมีสุขของประชาชนในทุกๆด้านตาม”ศาสตร์พระราชา” และตามพระบรมราโชบายของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 และ10 ที่นี่เรามีความพร้อมทุกด้าน ขอบคุณที่ ผศ.ดร. สุทธิพร ผอ.สพสล.และทีมงานที่จะร่วมกับบริษัทต่างๆนำเอา”ถั่วดาวอินคา”ไปช่วยด้านเศรษฐกิจของชุมชนต่อไปจากที่สำเร็จในเรื่อง”ดอกเก๊กฮวย” มาแล้ว
ด้าน ผศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า มร.ชร. ยินดีให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ต่างๆเต็มที่เรามีห้องแล็บที่มีมาตรฐาน ISO 17025 ในการตรวจสอบมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลก และยินดีเติมเต็มความรู้ด้านสายพันธุ์ใหม่ๆหวังว่าทุกบริษัทจะร่วมมือกันต่อไปเพื่อช่วยกันสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มร.ชร. โดย สพสล.ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) “โครงการส่งเสริมการร่วมขับเคลื่อน พืชถั่วดาวอินคาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับ บริษัท เชียงรายเกษตรกรรมก้าวหน้า ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงรายมาแล้วเพื่อพัฒนาด้านต่างๆของ”ถั่วดาวอินคา”และต่อมาจึงมีการประชุมระดับประเทศในวันนี้เพื่อดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศเนื่องจากปัจจุบันผลผลิตของถั่วดาวอินคาเป็นที่ต้องการมากแต่มีผู้ผลิตน้อยไม่เพียงพอความต้องการของตลาดโลก
ในประเทศไทยมีการปลูกน้อยมาก ส่วนใหญ่จะปลูกใน ลาว เวียดนาม เมียนมา ซึ่งบริษัทในประเทศไทยต้องซื้อเพื่อการส่งออกไปทางยุโรป–อเมริกาในราคาแพงมาก 200-400 บาท/กิโลกรัม หากมีการปลูกในประเทศไทยอย่างจริงจังเชื่อว่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นและไม่ต้องห่วงเรื่องตลาดรับซื้อเพราะทุกบริษัทฯล้วนต้องการทั้งนั้น หลังจากการประชุมแล้วตัวแทนบริษัทต่างๆยังได้เข้าชมพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์พระราชา ผ่านสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ที่ หอปรัชญา รัชกาลที่ 9 และดูงานที่ห้องแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชทั้งเรือนเพาะชำถั่วดาวอินคา ที่ สพสล.มร.ชร.ด้วย
ผู้สนใจติดต่อสอบถามที่ นายวิชัย วิศิษฐฎากุล ประธานกรรมการบริษัทเชียงรายเกษตรกรรม โทร.089-8531471 , 082-6462451 หรือที่ สพสล.มร.ชร. โทร.053-776000 ต่อ สพสล. (ผศ.ดร.สุทธิพร)
สำหรับบริษัทที่ร่วมประชุมมี 12 บริษัท ดังนี้ 1. บริษัทอินคานิวไลฟ์ (จ.หนองบัวลำภู) 2. บริษัทรัตนาเคณทร์ (ชลบุรี) 3. บริษัทนิยมฟาร์ม(ร้อยเอ็ด) 4. บริษัทเชียงรายเกษตรกรรมก้าวหน้า จำกัด (เชียงราย) 5. บริษัทไทย เนเชอรัล กรุ๊ป จำกัด (ขอนแก่น) 6. บริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อนพลังงาน (เชียงใหม่) 7. บริษัทเอเชียสตาร์ โอเมก้า (ขอนแก่น) 8. บริษัทธงชัย เทรดดิ้ง(นครราชสีมา) 9. บริษัทไทยฟาร์มมิ่ง แฟคตอรี (เชียงราย)10. บริษัทเอส ซี เอฟ คอนแนค (ลำปาง) 11. สถาบันส่งเสริมและพัฒนาบริษัทเกษตรอินทรีย์เพื่อการส่งออกเพชรบูรณ์ (สพอ.) (เพชรบูรณ์) และ 12. บจก. เว็ลตี้ เทรดดิ้ง (กทม.)////