บ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ขอเวลาอีก5ปี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน20ล้านบาท พร้อมดึกลูกหลานกลับบ้านพัฒนาท้องถิ่น ทำอาชีพที่สร้างรายได้ในพื้นที่พร้อมพัฒนาบริการโฮมสเตย์ที่เป็นมาตราฐาน
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน2561 นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรือตรีสุชาญ ภู่สุวรรณ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9 จัดกิจกรรมสัมพันธ์โครงการชุมชนประชารัฐสีชมพูปีที่3 ที่บ้านท่าขันทอง หมู่ 3 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พร้อมมอบรางวัล “จีเอสบี สมาร์ต โฮมสเตย์ โฮมสเตย์มีสไตล์” ให้กับตัวแทนของหมู่บ้านท่าขันทอง ในฐานะที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 โฮมสเตย์ทั่วประเทศที่มีแผนพัฒนายอดเยี่ยมตามโครงการดังกล่าว
โดยกิจกรรมมีการจัดแสดงโดยชาวบ้านท่าขันทองและเครือข่ายหมู่บ้านโฮมสเตย์ต่างๆ การจัดแสดงร้านค้าชุมชนของแต่ละหมู่บ้านและนำคณะชมภายในหมู่บ้านซึ่งมีการจัดเป็นบ้านพักพร้อมกิจกรรมภายในหมู่บ้านรองรับมากมาย เช่น พิธีบายศรี นั่งรถอีต๊อกชมหมู่บ้าน ปั่นจักรยาน เที่ยวสวนเกษตร สีข้าวกล้องด้วยสองมือ ทอผ้าฝ้าย ทำสบู่สมุนไพร ล่องเรือในแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวโดยคัดเลือกจาโฮมสเตย์ทั่วประเทศไทยที่สมัครเข้าร่วมประกวดจำนวน 139 แห่ง และได้คัดเลือกรอบแรกให้เหลือจำนวน 100 แห่ง จากนั้นให้มีการสัมมนารับฟังคำแนะนำ แนวทางและแผนพัฒนาก่อนคัดเลือกให้เหลือเพียง 20 แห่ง และจัดให้มีการนำเสนองานอีกครั้งก่อนจะคัดให้เหลือเพียง 10 แห่งซึ่งก็พบว่าหมู่บ้านท่าขันทองก็ติด 1 ใน 10 แห่ง
นายเศรษฐศักดิ์ พรหมมา ปลัดเทศบาล ตำบลบ้านแซว โดยเป็นที่ปรึกษาโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง กล่าวว่าโฮมสเตย์บ้านท่าขันทองเกิดจากการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านท่าขันทองซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงชายแดนไทย–สปป.ลาว เห็นว่าการทำการเกษตรประสบปัญหาเรื่องราคาผลผลิตไม่แน่นอนจึงต้องการหารายได้เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นเมื่อปี 2550 หรือกว่า 11 ปีก่อนจึงได้รวมตัวกันจากที่ไม่รู้เรื่องใดๆ เลยพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อหารายได้ทดแทนภาคการเกษตรดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันมีบ้านเรือนที่ปรับปรุงเป็นโฮมสเตย์แล้วจำนวน 17 ราย มีเครือข่ายหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนต่างๆ ในจังหวัดอีกว่า 70 หมู่บ้าน และมีกิจกรรมภายในหมู่บ้านร่วมกับชาวบ้านทั้งหมดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะไปเยือนอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2561 ที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนหมู่บ้านและเข้าพักที่โฮมสเตย์ของชาวบ้านจำนวนประมาณ 3,000 คน สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านประมาณ 6 ล้านบาท โดยกิจกรรมที่ผู้ไปพักนิยมมากคือได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน พักริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ร่มรื่นและนั่งเรือแม่น้ำโขง ซึ่งจุดนี้เราต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ โดยการปรับปรุงพัฒนาต้องควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายที่มีมากขึ้นด้วยโดยตั้งเป้าพัฒนาด้วยแผนระยะเวลา 5 ปีเพื่อให้ตัวเลขรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านบาท นั้นจะหมายความว่า จะให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดกลับมาทำโฮมสเตย์ เพราะสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่น”นายเศรษฐศักดิ์ กล่าว
นายเศรษฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในเรื่องของการทำให้โฮมสเตย์ ให้ได้คุณภาพตลอดไปนั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการพัฒนา และชาวบ้านที่ร่วมกันทำจุดนี้ให้ดีมากขึ้น ไม่หยุดพัฒนานั้นเอง รวมทั้งหากิจกรรมใหม่ให้กับที่มาใช้บริการ/////