เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการจัดงานประเพณีนมัสการและสงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2562 ได้มีกำหนดจัดกิจกรรม “2,001 ปี สืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สา พระธาตุดอยตุง อ.แม่สาย จ.เชียงราย” โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค.2562 นี้ ณ วัดน้อยดอยตุง และพระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย โดย นายภาสกร สัญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานฯ ได้แจ้งวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่าเพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟูสืบสานประเพณีวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกรรมภายในงานประกอบด้วยการปฏิบัติธรรมที่วัดน้อยดอยตุง วันที่ 18-19 มี.ค.จากนั้นในวันที่ 19 มี.ค. มีการจัดจาริกแสวงธรรมตามรอยครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนาในอดีต
กิจกรรมที่วัดศาลาเชิงดอย ต.ห้วยไคร้ ตั้งแต่เวลา 06.00น.เป็นต้นไป มีพิธีทางศาสนา สักการะพระรูปเหมือนครูบาศรีวิชัย และจัดให้มีการปล่อยขบวนเดินจาริกแสวงบุญ “เตียวขึ้นดอย ตวยฮอยครูบา ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตรจากพื้นราบสู่พระธาตุดอยตุง โดยผู้เข้าร่วมเดินจะได้รับเหรียญที่ระลึกพร้อมเกียรติบัตร พร้อมได้เข้าร่วมพิธีสืบชะตาหลวงล้านนา รวมพลคนปีกุน (กุญชร) เพราะพระธาตุดอยตุงเป็นองค์ธาตุประจำราศีผู้ที่เกิดปีกุนและทุกราศี เมื่อเดินจาริกแสวงบุญถึงบริเวณพระธาตุแล้วจะมีการจัดพิธีตักน้ำทิพย์ บวงสรวง เจริญพระพุทธมนต์ สมโภช สวดเบิก และเทศน์ประวัติพระธาตุดอยตุง การแสดงศิลปวัฒนธรรม
นอกจากนี้ในวันที่ 20 มี.ค.มีการจัดทำวัตรเช้า ทำบุญตักบาตร พิธีบวงสรวงสรงน้ำพระธาตุดอยตุง จัดขบวนแห่เครื่องสักการะ แห่ตุง น้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรพระราชทาน พร้อมด้วยขบวนแห่รัตนสัตตนังสักการะ ขบวนตุง 20 วา 562 ผืน และขบวน 18 ชาติพันธุ์ และในปีนี้ 2562 ได้มีกิจกรรมพิเศษด้วยการจัดกิจกรรมวิ่ง ปั่น สืบสานสู่ลานพระธาตุดอยตุงด้วย โดยจะมีการแถลงข่าวเพื่อแจ้งรายละเอียดการจัดงานในวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค.2562 ต่อไป
สำหรับพระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์โดยมีความเป็นมาว่าพระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระอรหันต์ครั้นพุทธกาลได้นำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรโยนกนาคพันธ์ ซึ่งพระเจ้าอชุตราชได้เสี่ยงทายด้วยการนำตุงยาว 7,000 วาไปปักเอาไว้เพื่อหาจุดสร้างพระธาตุก็ได้ตรงยอดดอยตุงในปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาอีก 100 ปีมีพระมหาวชิรโพธิเถระซึ่งเป็นอรหันต์อีกรูปนำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้ามังรายณะกษัตริ์ที่ครองราชสืบต่อกันมาอีก ทำให้มีการสร้างเป็นประธาตุคู่แฝดกันมา จนปี 2470 ครูบาศรีวิชัยนักบุญล้านนาได้ไปบูรณะทำให้พุทธศาสนิกชนสืบทอดการเดินขึ้นดอยตุงเพื่อสรงน้ำพระธาตุจนถึงปัจจุบัน.//