เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. เป็นประธานในการจัดเสวนา “MFU Voice for Clean Air” โดยมี นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พ.อ.อุไร ศรีม่วงสุข หน.กองข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยมณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช นายแพทย์เอกชัย คำลือ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย นายเศวตยนต์ ศรีสมุทร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นักศึกษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ที่ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคารเอ็ม-สแคว์ ชั้น 5 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย เนื้อหามีการแจ้งถึงสถานการณ์การเกิดปรากฎการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควันในมุมมองของคนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะนักศึกษา มฟล. จากนั้นให้แต่ละฝ่ายเสนอข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหา
รศ.ดร.วันชัย กล่าวว่าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มฟล.เคยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้และจากสถานการณ์ที่รุนแรงในปีนี้ทำให้ต้องมีการจัดเวทีเช่นนี้เพื่อหาทางออกทั้งในระยะสั้นและระยาว โดยทาง มฟล.รับจะเป็นคนกลางในการประสานทุกฝ่ายโดยระยะสั้นคือการดูแลด้านสุขภาพ การรณรงค์ให้เลิกการเผา ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ปฏิบัติกันอย่างแข็งขันอยู่แล้ว ส่วนระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จ.เชียงราย มีมาตาการห้ามเผาอย่างได้ผลและทำให้ฝุ่นละอองหมอกควันลดลงอย่างมากแต่ปรากฎว่าปีนี้กลับเกิดขึ้นหนักมากอย่างไม่น่าเชื่อจึงควรมีกระบวนการสอบสวนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยมีการจัดตั้งเครือข่ายท้องถิ่นและเครือข่ายนานาชาติเพราะปัญหานี้เกี่ยวข้องกับทั้งภายในและระหว่างประเทศโดยเฉพาะในปัจจุบันมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาเซียนที่ จ.เชียงราย และผู้มาร่วมได้เห็นสภาพที่ชัดเจน รวมทั้งตนได้รับเชิญให้ไปร่วมจึงจะนำเสนอเรื่องนี้เข้าหารือ
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักเข้าใจกันว่าปัญหาเกิดจากการเผาไหม้ในต่างประเทศแต่ปัจจุบันพบว่ามีการเผาภายในประเทศกันมากเช่นกัน และแม้แต่ในต่างประเทศใกล้เคียงก็พบว่ามีเอกชนไทยเข้าไปลงทุนด้านข้าวโพดจนทำให้เกิดการเผาเสียเองด้วยซึ่งการจะเข้าไปห้ามปรามนั้นยากมาก เพราะแม้แต่ระดับรัฐบาลกลางเคยหารือกันแต่เมื่อต้องปฏิบัติไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ได้ด้วยเหตุผลการปกครองในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะเรื่องการปลูกพืชทดแทนหรือหลากหลายเพื่อลดการเผาทั้งในและต่างประเทศ
นายแพทย์เอกชัย กล่าวว่า ภาคเหนือเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจโดยเฉพาะถุงลมโป่งพองมากที่สุดในประเทศไทยมากว่า 40-50 ปีแล้วแต่ภาวะฝุ่นละอองหมอกควันดังกล่าวยังไม่ชัดเจนกว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เพราะในช่วง 5 ปีหลังมานี้จำนวนผู้ป่วยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ปัจจุบันการแก้ไขปัญหานั้นเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประมาณ 25,000 คน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน 225 แห่ง และโรงพยาบาลของรัฐ 18 แห่งทั่วจังหวัด ทั้งการแจกหน้ากากอนามัย จัดโซนปลอดภัย ดูแลรักษาสุขภาพ ดูแลกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุประมาณ 160,000 คน เด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบประมาณ 20,000 คน และยังมีกลุ่มผู้ป่วย ผู้มีครรภ์ ฯลฯ ปัจจุบันกำลังศึกษาว่าฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาในภาคเหนือจะมีผลเหมือนหรือแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ หรือไม่อย่างไรด้วย
ด้านนายเศวตยนต์ กล่าวว่า ปัญหาการเผาไหม้ในประเทศเพื่อนบ้านนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยดังนั้นประเทศไทยจึงใช้เวทีอาเซียนในการแก้ไขปัญหาและหากไม่ได้ผลเพียงพอก็ควรใช้ด้านจิตวิญญานความเชื่อของคนในพื้นที่ เช่น ครูบาบุญชุ่ม ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในพื้นที่ เป็นต้น รวมทั้งหาวิธีการใช้โมเดลในพื้นที่ที่ได้ผลในประเทศไทย เช่น ดอยผาหมี ฯลฯ ซึ่งปลูกกาแฟและกลายเป็นพืชเศรษฐกิจทำให้ชาวบ้านดูแลไม่ให้เกิดการเผาได้ดีมาก ปัจจุบันประเทศไทยยังนำเข้าเมล็ดกาแฟเพราะไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศจึงสามารถส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปัญหาการเผาได้เหมือนกันได้ ทั้งนี้หากเข้มงวดไม่ให้เผาอย่างเดียวอาจจะแก้ไขปัญหาได้ 3-5 ปีแต่เมื่อไม่มีพืชเศรษฐกิจก็มีความพยายามเผาเพื่อทำการเกษตรอยู่เช่นนี้ต่อไป
ด้าน พ.อ.อุไร กล่าวว่า ปัญหาการฝุ่นละอองเหมือนยาเสพติดอย่างมากเพราะเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน และบางครั้งกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดก็เผาเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ไม่ให้ดักซุ่มสกัดกั้น รวมทั้งตั้งข้อสังเกตุว่าการเผาเกิดขึ้นในป่าอนุรักษ์และป่าไม้เขตตะวันตกและตอนกลางเป็นหลัก ซึ่งบ่งชี้ว่าในช่วง 2-3 ปีก่อนทางเจ้าหน้าที่เข้มงวดหนักทำให้การเผาน้อยมากเกิดฮอตสปอตแค่ 17 ครั้งในปีก่อน แต่ปีนี้พบว่ามีการเผาภายในเขตป่าทางเขตตะวันตกและตอนกลางดังกล่าวอย่างหนักกว่า 80% เพื่อให้ไฟลามไปยังพื้นที่ทางการเกษตรที่จับจอง ซึ่งก็ได้ผลจริงๆ เพราะไฟได้โหมลุกไหม้อย่างหนักดังกล่าว ปัจจุบันทางทหารจึงได้จัดกำลังพบจำนวน 36 ชุดพร้อมสนับสนุนการดับไฟทั้งจังหวัดและคาดหวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป//////