เมื่อวันที่12มีนาคม 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ร่วมกับโครงการหลวงดอยสะโง๊ะ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านตามพื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่ฟ้าหลวง หลายหมู่บ้านให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ “ดอกเก๊กฮวย” แทนการปลูกข้าวโพดโดยปัจจุบันมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านเข้าร่วม เช่น บ้านหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง บ้านม้งเก้าหลัง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง ฯลฯ
ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มร.ชร.เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเชิงวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หลังจากพบว่าตามพื้นที่ภูเขาสูงโดยเฉพาะชายแดนมีทั้งปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นบริเวณกว้างเพื่อสร้างรายได้คือข้าวโพดเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดการรุกป่าและเผาในฤดูแล้งจนสร้างปัญหามลภาวะตามมาขณะเดียวกันด้วยรายได้ที่น้อยทำให้เสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาจนพบว่าพืชเก๊กฮวยเหมาะสมในการนำมาทดแทนข้าวโพดได้ โดยทำให้มีรายได้ดีกว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่าและไม่ต้องเผาในฤดูแล้งแต่ใช้การฝังกลบแทนทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นจึงได้นำพันธุ์ดอกเก๊กฮวยที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์แล้วจากโครงการหลวงดอยสะโง๊ะมาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะพันธุ์แล้วนำขึ้นไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกโดยถ่ายทอดทั้งแนวคิด เทคโนโลยีและใช้วิทยาศาสตร์ในการเข้าไปส่งเสริมด้วยการ่วมกับผู้นำชุมชนก่อน กระทั่งปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมแล้วจำนวน 60 กว่าราย ผลผลิตที่ได้นำมาจำหน่ายได้ในราคาดีและทาง มร.ชร.รับส่วนหนึ่งมาใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เก็บไว้ได้นาน 1 ปีด้วย
ผศ.ดร.สุทธิพร กล่าวว่าพืชข้าวโพดและเก๊กฮวยต่างเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้นประมาณ 4-6 เดือนเหมือนกัน แต่ข้าวโพดมีลำต้นใหญ่ต้องฟันหรือเผาเมื่อพ้นฤดูกาลไปแล้วเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ และยังต้องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีตามที่ผู้รับซื้อกำหนดด้วย ประกอบกับรายได้ต่อไร่ของข้าวโพดเฉลี่ยไร่ละประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อไร่หรือกำไรสุทธิหักแล้วเหลือเพียง 1,500 บาทต่อไร่ แต่กรณีของเก๊กฮวยไม่ต้องใช้สารเคมีเพราะเป็นพืชที่ต้านทานแมลงศัตรูพืชและโครงการเราก็เน้นพืชอินทรีย์อยู่แล้ว ส่วนรายได้ก็พบว่าสามารถทำให้ได้สูงถึงไร่ละกว่า 10,000 บาท ตลาดก็มีแนวโน้มดีโดยปัจจุบันจำหน่ายได้บนดอยแม่สลองและมีผู้ขึ้นไปรับซื้ออย่างต่อเนื่อง
“เมื่อพ้นฤดูกาลไปแล้วก็ไม่ต้องเผาทิ้งเพราะมีลำต้นเล็กเตี้ยกว่าเพียงแต่ไถกลบก็สามารถเป็นแปลงปลูกได้เลย รวมทั้งยังเป็นพืชคลุมดินชั้นดี ที่สำคัญคือช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ยังคงมีปัญหานี้อยู่อีกด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันทางสถาบันฯ ยังกำลังขยายการส่งเสริมการปลูกไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจ เช่น ดอยอินทรีย์ อ.เมืองเชียงราย เป็นต้น ต่อไป” ผศ.ดร.สุทธิพร กล่าว.
งานพ่อขุนเม็งรา…
วันที่ 18 ธันวา…
สถานคุ้มครองสวั…
เมื่อวันที่ 15 …