เมื่อวันที่ 17มิถุนายน 2562 นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงราย นายอภิชาต เนินพลับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และนายพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตร จังหวัดเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “เทศกาลข้าวเชียงราย” ที่ห้องดอยตอง โรงแรมเดอะริเวอร์รี บายกะตะธานี เชียงราย จ.เชียงราย โดยงานดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้น 2 ช่วง โดยช่วงแรกมีกำหนดจัดที่ ศูนย์การค้ามาเก็ต บางกอก ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.นี้ ภายในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว นิทรรศการความผูกพันข้าวกับวัฒนธรรม วิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าว สาธิตการทำอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มจากข้าว การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกลุ่มชาวนาและเอกชน และช่วงที่ 2 มีกำหนดจัดขึ้น ณ ลานหน้าที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ชายแดนไทย-เมียนมา ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ค.2562
นายภาษเดช กล่าวว่า ข้าวถือเป็นอาหารหลักของประเทศไทยและ จ.เชียงราย ก็ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของภาคเหนือ ดังนั้นจังหวัดจึงให้ความสำคัญและกำหนดยุทธศาสตร์ให้มีการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการตลาดครบวงจรขึ้น หลังจากที่ผ่านมาสถานการณ์ข้าวในพื้นที่มักจะปล่อยให้ชาวนานำผลผลิตไปขายผ่านโครงการหรือโรงสีข้าวต่างๆ บางครั้งได้ราคาที่ไม่ดีพอและต้นทุนสูง ขณะที่พันธุ์ข่าวในเชียงรายมีข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีจนได้รับรางวัลระดับประเทศและเป็นแหล่งกำเนิดข้าวเหนียวเขี้ยวงูเพียงแห่งเดียว โดยในปี 2562 นี้ก็ได้เริ่มมีการจัดงานเทศกาลข้าวดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกเพราะที่ผ่านมาไม่เคยจัดขึ้นมาก่อน วัตถุประสงคืเพื่อส่งเสริมการตลาด สร้างเครือข่ายและประชาสัมพันธ์ผลผลิตที่ดีดังกล่าวซึ่งหากว่าประสบความสำเร็จก็จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อไป
นายพรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเชียงราย มีพื้นที่ปลูกข้าวรวมกันประมาณ 1,253,098 ไร่ เป็นอันดับที่ 19 ของประเทศไทยและมากที่สุดในภาคเหนือตอนบน ในแต่ละปีจะได้ผลผลิตประมาณ 740,000 ตัน สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละประมาณ 7,000 ล้านบาท กระนั้นที่ผ่านมาพบว่าราคาข้าวบางช่วงตกต่ำดังนั้นทางหน่วยงานราชการจึงได้พยายามเข้าไปตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุน ฯลฯ ดังนั้นการจัดงานมหกรรมจึงถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดจากการพัฒนาดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศและทั่วโลก โดยก่อนจะจัดงานมหกรรมก็ได้มีเอกชนสนใจเข้ามาจับคู่ทางธุรกิจกับกลุ่มวิสาหกิจของชาวนาแล้ว
โดยกลุ่มดังกล่าวได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาข้าวหนองอ้อ ช่วยชีวิตหมูป่า ของหมู่บ้านหนองอ้อ หมู่ 2 ต.โป่งผา อ.แม่สาย ที่ประกอบไปด้วยชาวนาจำนวน 19 ราย ซึ่งเคยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการรับน้ำจากถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ในช่วงมีการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ช่วงเดือน ก.ค.2561 ที่ผ่านมาจนทำให้น้ำท่วมทุ่งนาของเขาเสียหายหมดจากนั้นทั้งหมดก็ขอไม่รับการช่วยเหลือเงินชดเชยจากทางราชการซึ่งถือเป็นการเสียสละ ปรากฎว่าครั้งนี้ได้มีทางร้านผัดไทยภูเก็ต บาย พ่อแดง ที่มีชื่อเสียงได้ทำเอ็มโอยูรับซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มนี้เพื่อนำไปปรุงเป็นผัดไทภูเก็ตดังกล่าวแล้วซึ่งพบว่าข้าวมีคุณภาพดีมาก ซึ่งในการจัดงานมหกรรมข้าวครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ชาวนาทั้ง 19 รายดังกล่าวก็จะนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงส่วนร้านผัดไทยภูเก็ต บาย พ่อแดง ก็จะนำผัดไทที่ปรุงจากข้าวของชาวบ้านหนองอ้อให้เป็น “ผัดไทสมุนไพร 5 สีกุ้งสด จานยักษ์” เพื่อแจกให้ผู้เข้าชมงานฟรีจำนวน 5,000 จาน
นายพรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดงานครั้งที่ 2 ที่ อ.แม่สาย ก็จะมีกิจกรรมในลักษณะเดียวกันแต่จะจุดเด่นหรือไฮท์ไลน์ด้วยการจำลองทุ่งนา กองฟาง โรงนา ฯลฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป และมีกลุ่มชาวบ้านจาก อ.พาน ที่มีชื่อเสียงด้านข้าวหลามมานานจะนำข้าวหลามที่ทำจากข้าวเหนียวเขี้ยวงูบรรจุในกระบอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้วมาแสดง และนำข้าวหลามจำนวน 1,000 กระบอกออกมาแจกฟรีให้ผู้ร่วมงานด้วย
นายอภิชาต กล่าวว่าเชียงรายมีสายพันธุ์ข้าวที่ดีจำนวนมาก เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ให้กลิ่นหอมในฤดูเก็บเกี่ยวที่แห้งแล้งและหนาวเย็น หรือแม้แต่ในช่วงที่ไม่มีภูมิประเทศดังกล่าวแล้วความหอมลดลงก็ยังมีความอ่อนนุ่มจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ข้าวพันธุ์ กข.6 ข้าวเหนียวเขี้ยวงูซึ่งมีแหล่งกำเนิดและเป็นหนึ่งเดียวของ จ.เชียงราย ปัจจุบันมีการจดทะเบียนเอาไว้แล้วซึ่งพื้นที่อื่นจะนำไปอ้างชื่ออีกไม่ได้ ฯลฯ ปัจจุบันภาคเหนือมีแหล่งปลูกข้าวใหญ่ๆ อยู่ที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ แต่ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ล้วนไปจากเชียงรายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการจัดงานมหกรรมจึงช่วยประชาสัมพันธ์คุณภาพของผลผลิตดังกล่าวโดยเฉพาะข้าวเหนียวเขี้ยวงูลักษณเหมือนไข่เค็มไชยยาก็ต้องหาที่ อ.ไชยยา จ.สุราษฎร์ธานี และหากเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูก็ต้องไปหาที่ จ.เชียงราย จะไปหาแหล่งอื่นก็ไม่มีให้/////